อัลเบิร์ต
ไอน์สไตน์ เป็นคนชาญฉลาดระดับอัจฉริยะที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ทุกคนถึงอยากรู้อยากเห็นมากว่า
สมองของคนระดับนี้แตกต่างจากสมองของคนทั่วไปอย่างไร
ความพยายามหาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าวมีมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาเพิ่งเสียชีวิตลงใหม่ๆในปีค.ศ.1955
(พ.ศ.2498)
แต่ไม่ประสบผล
เพิ่งจะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เองที่ภาพถ่ายสมองของไอน์สไตน์ที่ไม่เคยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหนมาก่อนทั้งหมดได้รับการตรวจวิเคราะห์ทั้งนี้แซนดรา
วิทเทลสัน นักประสาทวิทยาชื่อดังจากสำนักการแพทย์ ไมเคิล จี. เดอกรูท ในสังกัดมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์
ในแคว้นออนทาริโอ ทางตะวันออกของแคนาดา ยืนยันว่า ในทางวิชาการ
มีความเชื่อมโยงกันมากอย่างยิ่งระหว่างสภาพทางกายภาพของสมอง
กับศักยภาพเชิงปัญญาของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งเท่ากับว่า การตรวจสอบสมองของไอน์สไตน์
ไม่เพียงช่วยไขข้อกังขาดังกล่าวแล้วยังจะอำนวยความรู้ทรงคุณค่าในเชิงวิทยาศาสตร์อีกด้วย
ตอนที่ไอน์สไตน์เสียชีวิตลงใหม่ๆไม่กี่ชั่วโมงของวันที่ 18 เมษายน 1955
โธมัส
ฮาร์วีย์ พยาธิแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพรินซ์ตัน
จัดการผ่าเอาสมองของเขาออกมาเก็บไว้โดยไม่ได้ขอ และไม่ได้รับอนุญาตจากญาติ
เมื่อผ่าออกมาแล้ว ฮาร์วีย์ถ่ายภาพของสมองเอาไว้เป็นจำนวนหลายสิบภาพ
หลังจากนั้นก็ตัดแบ่งก้อนสมองออกเป็นส่วนๆ รวม 240 ส่วน เพื่อให้ง่ายต่อการดองเก็บรักษาเอาไว้
ฮันส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บุตรชายของไอน์สไตน์ได้แต่จำเป็นต้องให้ความเห็นชอบหลังจากมีการผ่าแล้ว
ภายใต้ข้อแม้ที่ว่า
สมองดังกล่าวจะต้องใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยและตีพิมพ์เผยแพร่ในจุลสารวิชาการเท่านั้น
แต่ฮาร์วีย์กลับเก็บสมองของไอน์สไตน์ไว้เป็นของตนเองยอมแลกแม้กับการต้องถูกไล่ออกจากงานในเวลาต่อมาท่ามกลางเสียงเรียกร้องของนักวิทยาศาสตร์และนักศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากที่ต้องการศึกษาสมองพิเศษก้อนนั้น
จนในที่สุด ฮาร์วีย์ก็ยินยอมแจกจ่ายชิ้นส่วนของสมองออกไปบ้างเป็นครั้งคราว
อย่างเช่นให้กับ มาเรียน ไดมอนด์ นักประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
เบิร์คเลย์ ในปี 1985 และ แซนดร้า วิทเทลสัน ในปี 1995 เป็นต้น
ฮาร์วีย์และวิทเทลสัน
ร่วมกันศึกษาสมองของไอน์สไตน์มาด้วยกันอยู่ระยะหนึ่ง ในปี 1999 ทั้งสองเผยแพร่การค้นพบที่ว่า
สมองในส่วน "แพรีทัล โหลบ"
ของไอน์สไตน์นั้นแตกต่างไปจากของคนทั่วไปเพราะกว้างกว่าปกติ
สมองส่วนตัวกล่าวเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์ วิสัยทัศน์
และจินตภาพพิเศษ นอกจากนั้นยังไม่มีร่องที่ปกติมักมีอยู่ในสมองส่วนดังกล่าว
ซึ่งเชื่อกันว่า ทำให้มีการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทของสมองมากกว่าปกติด้วย
นักวิทยาศาสตร์อื่นๆ
ใช้วิธีการศึกษาจากภาพถ่ายเท่าที่หลุดเล็ดลอดออกมาตีพิมพ์ได้ ในปี 2009 ดีน ฟอล์ค
นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา ในทัลลาฮัสซี ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่ารูปแบบของแพรีทัล
โหลบ และโครงสร้างของรอยหยักในสมองของไอน์สไตน์ คล้ายๆ
ของนักเล่นดนตรีประเภทเครื่องสาย ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในเชิงดนตรี แต่ก็ยอมรับว่าการศึกษามีข้อจำกัดเพราะพิเคราะห์จากภาพถ่ายเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้น
ฮาร์วีย์ เสียชีวิตลงเมื่อปี 2007 ต่อมาในปี 2010
ทายาทมรดกของเขายกภาพสไลด์และภาพถ่ายทั้งหมดให้กับพิพิธภัณฑ์การแพทย์และสุขภาพแห่งชาติ ที่ซิลเวอร์สปริง ในรัฐแมรี่แลนด์
เป็นที่มาของการได้ศึกษาและตรวจสอบสมองของไอน์สไตน์อย่างเต็มที่ในครั้งนี้
ฟอล์คและเพื่อนร่วมงานใช้ภาพสมองของไอน์สไตน์14ภาพแรก
ที่วิเคราะห์ไปเปรียบเทียบกับสมองของคนทั่วไปอีก 85 คน
และสรุปเอาไว้ว่า สมองของไอน์สไตน์ แตกต่างไปจากสมองโดยเฉลี่ยของคนทั่้วๆ
ไปในหลายๆ ส่วนของสมอง มีความซับซ้อนและขรุขระมากกว่าสมองทั่วๆ ไป
ที่เชื่อว่าเกี่ยวเนื่องกับเซลล์ประสาทของอัจฉริยะผู้นี้อีกด้วย
ไม่นานหลังจากนี้คงมีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสมองของไอน์สไตน์ออกมาอีกมากมายแน่นอน
ที่มา : มติชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น